รู้เท่าทัน "สังคมออนไลน์" แค่กด "ไลค์" ก็อาจเจอ "คุก"


ในปัจจุบัน ไม่ได้มีแต่เพียงสังคมทางกายภาพที่ให้มนุษย์ได้มาพบปะพูดคุยกัน หรือมาทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันเท่านั้น แต่ยังมีอีกสังคมหนึ่งที่แม้จะเพิ่งเกิดมาได้ไม่นาน แต่แพร่กระจายเข้าสู่ความนิยมของคนอย่างรวดเร็ว

นั่นก็คือ "สังคมออนไลน์" หรือที่เรียกกันว่า "โซเชียลเน็ตเวิร์ก (Social Network)"

เป็นสังคมที่เราสามารถพูดคุยกันได้โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาก้าวเท้าออกจากบ้าน ไม่ต้องใช้เสียง จะใช้ก็เพียงการพิมพ์ตัวอักษร/อัพโหลดรูปภาพ เพื่อสื่อสารถึงกันเท่านั้น

แล้วสังคมออนไลน์ มีข้อดีหรือข้อเสียอย่างไรบ้าง?

จากความคิดนี้เองที่ทำให้ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดเสวนาทางวิชาการเรื่อง "รู้รอบ ปลอดภัยใน Social Network" เพื่อเป็นการรู้เท่าทัน

ผศ.พ.ต.ต.ดร.ดนุวศิน เจริญ ผู้อำนวยการหลักสูตร MBA คณะบริหารธุรกิจ นิด้า กล่าวเริ่มต้นการเสวนาด้วยการอธิบายถึงความนิยมของเว็บไซต์ว่า ปัจจุบันนั้นที่สังคมออนไลน์ได้รับความนิยม เป็นเพราะการพัฒนาของเว็บไซต์ที่พัฒนาจาก web 1.0 เป็น 2.0 ที่เปลี่ยนกลุ่มผู้ใช้จากเดิมที่มี 2 กลุ่ม คือ ผู้สร้างเว็บรวมทั้งเนื้อหากับผู้ใช้เว็บไซต์ เป็นผู้ให้บริการเว็บไซต์ ผู้สร้างเนื้อหา และในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ใช้เนื้อหาในเว็บไซต์ด้วย

นอกจากจะเปลี่ยนแปลงกลุ่มผู้ใช้และผู้ควบคุมเนื้อหาในเว็บไซต์แล้ว ผศ.พ.ต.ต.ดร.ดนุวศิน ยังบอกอีกว่า สังคมออนไลน์ยังเปลี่ยนแปลงการสื่อสารอีกด้วย

"สังคมออนไลน์ทำให้มีช่องทางใหม่ในการสื่อสาร รวมทั้งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันบางอย่างที่เรามองไม่เห็นในโลกแห่งความเป็นจริงเห็นชัดขึ้น ตัวอย่างเช่น ทำให้เราเห็นว่าเพื่อนเราคือ A ก็เป็นเพื่อนกับ B หรือรู้จักกันเหมือนกัน เนื่องจากเว็บอย่างเฟซบุ๊กสามารถบอกเราได้ว่า ระหว่างเรากับ A มีเพื่อนคนไหนร่วมกันบ้าง เป็นต้น

"รวมทั้งเป็นการเปลี่ยนแปลงการสร้างความสัมพันธ์ หรือการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนด้วย กล่าวคือทำให้เราสามารถรักษาความสัมพันธ์แบบฉาบฉวยไว้ได้ เช่น คนที่เพิ่งรู้จักหรือพบกันครั้งเดียวก็สามารถจะคุยหรือรักษาความสัมพันธ์ผ่านทางสังคมออนไลน์ไว้ได้" ผู้อำนวยการหลักสูตร MBA คณะบริหารธุรกิจ นิด้า กล่าว


ไม่เท่านั้น สังคมออนไลน์ยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ใช้เป็นช่องทางการตลาดอีกด้วย

จากเดิมที่ต้องใช้สื่ออื่นๆ อย่าง โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าไปสู่ผู้บริโภคได้โดยตรง ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการตลาดของแบรนด์ต่างๆ เพราะการทำตลาดในเฟซบุ๊กนั้น ส่วนมากจะเป็นการทำตลาดแบบ ปากต่อปาก ที่ถือว่าเป็นการตลาดที่มีประสิทธิภาพมาก เพราะมาจากคนที่เราเชื่อใจ

วุฒิไกร งามศิริจิตต์ คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นิด้า บอกว่า หากมองในฐานะขององค์กรนั้น ต้องบอกว่าสังคมออนไลน์ยังไม่สามารถทำประโยชน์ให้องค์กรได้ แต่ก็เคยมีกรณีศึกษาอยู่ 1 กรณี คือ มีการทำงานร่วมกันของสมาชิกทีมหนึ่งซึ่งเวลามาประชุมกันนั้นไม่ค่อยมีใครกล้าแสดงความคิดเห็น แต่เมื่อเปิดพื้นที่ในโลกออนไลน์ให้ลองเข้ามาพูดคุยกันแล้ว ปรากฏว่า มีความคิดสร้างสรรค์ออกมาจากแต่ละคน ทำให้พบว่าบนโลกออนไลน์นั้นมีพื้นที่ไว้ให้คนเข้ามาแสดงความคิดเห็นได้อย่างแท้จริง

ส่วนด้านกฎหมายเกี่ยวกับสังคมออนไลน์นั้นก็น่าสนใจ

เพราะปัจจุบัน มีการละเมิดสิทธิ การทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เป็นจำนวนมาก

วริยา ล้ำเลิศ รองคณบดี คณะนิติศาสตร์นิด้า บอกว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโลกออนไลน์นั้นก็จะมี พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537,พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550, หรือจะเป็นประมวลกฎหมายแพ่งและอาญา

บางคนอาจจะยังไม่รู้ว่า สิ่งที่ตัวเองทำอยู่จนเป็นความเคยชินนั้นคือความผิด

ด้านลิขสิทธิ์การที่เราเต้นเลียนแบบเพลง"กังนัมสไตล์" ที่กำลังโด่งดังอยู่ตอนนี้ ถ่ายเป็นวิดีโอแล้วนำไปอัพโหลดลงในเว็บไซต์อย่างยูทูบ ก็ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์แล้ว หรืออย่างการที่เราชื่นชอบเพลงบางเพลงแล้วนำลิงก์ไปแปะไว้ที่หน้าเพจเฟซบุ๊กของเรา ก็เข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์เช่นกัน เพราะถือว่าเป็นการเผยแพร่


"ในประเทศสหรัฐอเมริกามีกฎหมายที่คุ้มครองเจ้าของเว็บไซต์ที่เป็นผู้ให้บริการอัพโหลดด้วย ว่าให้ลบวิดีโอต่างๆ ภายใน 14 วัน หากรู้ว่าวิดีโอนั้นผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ แต่หากไม่ลบภายในระยะเวลาดังกล่าว เจ้าของเว็บจะปฏิเสธความรับผิดไม่ได้

"เคยมีกรณีที่นักร้องอย่าง จัสติน บีเบอร์ ฟ้องร้องเว็บไซต์ยูทูบ ฐานที่ไม่ยอมลบมิวสิกวิดีโอของเขาออก รวมทั้งฟ้องร้องผู้อัพโหลดด้วย

เพราะถือว่าทำให้รายได้จากยอดโหลดวิดีโอของเขาตกลง" ผศ.ดร.วริยากล่าว

อีกผู้หนึ่งที่ให้ความรู้ด้านกฎหมาย

ดร.วราภรณ์ วนาพิทักษ์ คณะนิติศาสตร์ นิด้า กล่าวเสริมว่า การเผยแพร่คลิปเสียงต่างๆ อย่างเช่น ดาราบางคนที่ตกเป็นข่าวว่ามีคลิปเสียงหลุดนั้น ก็ถือเป็นความผิด รวมทั้งหากเราไปกดไลค์ หรือกดดิสไลค์ ก็จะมีความผิดไปด้วย เนื่องจากเมื่อเรากดไปแล้วจะทำให้เพื่อนๆ เรามองเห็น

คลิปนั้นได้ ก็ถือเป็นความผิดฐานเผยแพร่เช่นกัน ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

"การใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กนั้น ต้องรู้ทั้งโทษและประโยชน์ รวมทั้งระมัดระวังในการให้ข้อมูลด้วยว่าเป็นเว็บไชต์จริงหรือปลอม รวมทั้งต้องรู้ให้เท่าทันในการใช้งานด้วย" ดร.วราภรณ์กล่าวทิ้งท้าย

เป็นบทสรุปที่น่าฟังอย่างยิ่งของงานเสวนาในครั้งนี้

 

ขอบคุณ ที่มา : มติชนรายวัน ฉบับ วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2555





แสดงความคิดเห็น






Content-Seo


Advertisement